Login    Facebook Sphospital  
หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา บริการจากเรา รับเรื่องร้องเรียน กระดานสนทนา ผลงานดีเด่น

สปสช.ดันกลุ่มยาใหม่เข้าบัญชีจำเป็นราคาแพง 7 รายการ
ภาพประกอบข่าว
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องผลงานการบริหารยาและเวชภัณฑ์ในระบบ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2555 นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการต่อรองราคายาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นในกลุ่มยา 10 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มยาจำเป็นราคาแพงในบัญชียา จ (2) 2.กลุ่มยาต้านไวรัสเอชไอวี 3. กลุ่มยาต้านวัณโรค 4.กลุ่มยาวัคซีนอีพีไอ หรือวัคซีนในกลุ่มสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 5. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 6. วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 7. ยาจิตเวช 8. ยาโคลพิโดเกรลสำหรับรักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 9. ยาดีเฟอริโพรน หรือยาขับเหล็ก และ 10.กลุ่มยากำพร้า

 รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการต่อรองราคายาในปี 2555 ประหยัดงบประมาณในการจัดหายาได้ถึง 5,770 ล้านบาท เมื่อรวมกับการต่อรองราคาเวชภัณฑ์ ที่มิใช่ยาอีก 2,400 ล้านบาท ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 8,170 ล้านบาทนอกจากนี้แล้ว ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอของมติคณะ อนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2555 วันที่ 7 ก.ย. 2555 ที่ได้มีการเสนอรายการยาใหม่ที่เข้าบัญชียา จ (2) เพื่อเสนอเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วน หน้าในยา 7  รายการ ดังนี้ 1. ยาสำหรับรักษาภาวะโรคไขกระดูกฝ่อระยะรุนแรง (severe aplitic anemia) 2. ยาสำหรับรักษาโรคเกาเซอร์ (Gaucher syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม (พบผู้ป่วยน้อยรายแต่เป็นโรคที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง) 

3. ยาต้านจุลชีพ สำหรับรักษาเชื้อดื้อยา MRSA (Methicillin- resistant Staphylococcus aureus) 4. ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการแพ้ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่มี อยู่เดิม 5. ยามะเร็งสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น 6. กลุ่มยาต้านพิษ โดยเฉพาะพิษงูรวมที่มีผลต่อระบบประสาทและระบบเลือด และ 7. ยากำพร้า ที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเดิมไม่มีบริษัทใดนำยาเข้ามาขายใน ประเทศ         

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการบริหารจัดการยาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น พบว่าผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มยาราคาแพง เช่น ยาเลทโทรโซล (letrozole) สำหรับโรคมะเร็งเต้านม, ยาโดแท็กเซล (Docetaxel) สำหรับโรคมะเร็งปอดระยะลุกลาม และมะเร็งต่อมลูกหมาก, ยาโบทูลินั่ม ท๊อกซิน ชนิดเอ (Botulinum toxin type A) สำหรับโรคคอบิดและใบหน้ากระตุกครึ่งซีกชนิดไม่ทราบสาหตุ, ยาไอวีไอจี (IVIG) มีหลายข้อบ่งใช้ เช่น โรคคาวาซากิ ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิต (life-threatening) และไม่ตอบสนองต่อการรักษาต่อยาอื่น เป็นต้น

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ยา ลิวโพรรีลิน (Leuprorelin) ใช้รักษาอาการเจริญพันธุ์ก่อนวัยในเด็ก, ยาเวอทิพอร์ฟิน (Verteporfin) สำหรับโรคจอประสาทตาเสื่อมและยาไลโปโซมอล แอมโฟเทอริซิน บี (Liposomal amphotericin B) สำหรับการติดเชื้อราที่รุนแรง ซึ่งในปี 2552 มีผู้ป่วยในกลุ่มนี้เข้าถึงยาเพียง 845 ราย เมื่อมีการบริหารจัดการยาขึ้นตั้งแต่ปี 2553 ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับกล่าวคือปี 2553 มีผู้ป่วยเข้าถึงยา 3,299 ราย ปี 2554 มีผู้ป่วยเข้าถึงยา 5,563 ราย และปี 2555 มีผู้ป่วยเข้าถึงยา 4,874 ราย รวมมีผู้ป่วยเข้าถึงยา 14,581 ราย  

ทั้งนี้ สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านยาในประเทศไทย พบว่า ในปี 2538 มีอัตราการเติบโตของค่ายาร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ล่าสุดในปี 2550 พบว่าค่าใช้จ่ายด้านยามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45 หรือราว 1.7 แสนล้านบาท ของรายจ่ายด้านสุขภาพเป็นค่าใช้จ่ายด้านยา ซึ่งมีมูลค่าที่สูง เนื่องจากสาเหตุการใช้ยาเกินความจำเป็น หรือการใช้ยาที่มีราคาแพง.

ที่มา Thairath
โพสต์โดย admin
โรงพยาบาลสวนผึ้ง เลขที่ 152 หมู่ 5 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 70180  โทร. 0-3273-1800-2 โทรสาร 0-3273-1818  อีเมล์ sph.hospitals@gmail.com   พัฒนาโดย ศูนย์คอมพิวเตอร์