Login    Facebook Sphospital  
หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา บริการจากเรา รับเรื่องร้องเรียน กระดานสนทนา ผลงานดีเด่น

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯจี้"กิตติรัตน์" แจงเหตุห้ามอย.-กรมทรัพย์สินฯพูดถึงผลกระทบเอฟทีเอ
ภาพประกอบข่าว
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จับมือ 14 องค์กรภาคประชาสังคมด้านการเข้าถึงยา ร้อง กมธ.สาธารณสุข-ต่างประเทศ ตรวจสอบ

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมว่า ในวันนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ พร้อมกับภาคประชาสังคมด้านการเข้าถึงยารวม 14 องค์กรได้ทำหนังสือร้องเรียนให้มีการตรวจสอบกระบวนการจัดทำการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) ไปยังคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา

โดยเฉพาะความพยายามเร่งรัดให้มีการนำร่างกรอบการเจรจาระหว่างไทยและสหภาพยุโรปเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และให้ทันการพิจารณาของรัฐสภา ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มาตรา 190 ระบุว่า หากรัฐบาลจะทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนอย่างกว้างขวาง ก่อนการดำเนินการตามหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจะต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงรายละเอียดกรอบข้อตกลงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น 

โดยที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพยายามบิดเบือนข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไทยต้องรับเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลก (TRIPs Plus) โดยอ้างว่าไม่มีผลกระทบ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและขาดหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ และขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับผลการศึกษาจำนวนมาก  อีกทั้ง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังมีท่าทีที่ขัดแย้งกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุตรงกันถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และข้อเสนอให้มีความระมัดระวังในการเจรจาเนื่องจากผลที่จะเกิดขึ้นจะไม่ใช่ลักษณะทวิภาคีเท่านั้น” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เปิดเผยต่อว่า เมื่อปลายเดือนกันยายน มีรายงานข่าวว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีได้เรียกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เข้าพบเพราะไม่พอใจที่ 2 หน่วยงานนี้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไทยต้องยอมรับทริปส์พลัส “อยากให้รองนายกฯกิตติรัตน์ ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ เหตุใดจึงสั่งให้ 2 หน่วยงานนี้ห้ามพูดเรื่องผลกระทบทั้งที่เป็นความจริง ผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและระบบสาธารณสุขของประเทศไม่ใช่เรื่องที่จะมาเที่ยวโกหกหรือปิดบังความจริงได้ หากรายงานข่าวนี้เป็นเรื่องจริง นี่ไม่ใช่โกหกสีขาว (white lie) แล้ว เพราะเป็นการโกหกด้วยเจตนาร้าย แย่เสียยิ่งกว่าการหลอกลวงเป้าส่งออก เพราะเล่นกับชีวิตคน” ในจดหมายร้องเรียนขอให้คณะกรรมาธิการทั้งสองเข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าวซึ่งมีแนวโน้มว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำลังกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 เป็นการกระทำที่ขาดธรรมาภิบาลที่ข้าราชการพึงมี และตรวจสอบผลกระทบของการจัดทำการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) ต่อระบบสาธารณสุขไทย โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์แสดงความห่วงใยต่อข้อเรียกร้องของทางอียู ที่ขอให้

1.การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี
2.การคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบการได้รับสิทธิพิเศษเพียงผู้เดียวเหนือข้อมูล ที่ยื่นทะเบียนยาครั้งแรกและครั้งต่อไป อย่างน้อย 5 ปี (Data exclusivity) และ
3.การจับยึด อายัด หรือทำลายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ที่สงสัยว่าอาจจะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สิน ทางปัญญาประเภทอื่นๆ ณ จุดผ่านแดน

เพราะทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง อาจส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ของรัฐ  กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาโดยกรณี พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปีและการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิบัตรยา ส่งผลให้เกิดความพลิกผันของมูลค่าการใช้จ่ายยาในประเทศ ระหว่างยานำเข้าและมีสิทธิบัตรกับยาผลิตในประเทศ จากเดิมที่มูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 34% และมูลค่าการใช้ยาผลิตในประเทศอยู่ที่ 66% ของมูลค่าการใช้ยาทั้งประเทศ   แต่ปัจจุบันมูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 77% ขณะที่มูลค่าการใช้ยาที่ผลิตในประเทศเหลือเพียงแค่ 23% เท่านั้น จากมูลค่ายา ของทั้งประเทศอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี 2554)

ทั้งนี้เนื่องมาจากการนำเข้ายาสิทธิบัตรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่องบประมาณภาครัฐ ความยั่งยืนการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมยาภาย ในประเทศอย่างมาก เกิดการชะลอผลิตยาสามัญใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

ด้านนางปัจฉิมา ธนสมบัติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เห็นว่าการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปเป็นเรื่องใหญ่ต้องทำอย่างรอบคอบ และหากไทยไปยอมรับความตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์ตามที่สหภาพยุโรปต้องการ จะนำไปสู่การแก้กฎหมายซึ่งประเทศสมาชิกอื่นๆขององค์การการค้าโลกจะมาเรียกร้องขอใช้ประโยชน์ด้วย และต้องศึกษาประเทศอื่นๆ ว่า เป็นเช่นไร ไม่ใช่ทำกันบางประเทศ แล้วไปยอมรับมา น่าจะดูผลประโยชน์ส่วนใหญ่ เพราะจะมีปัญหากับการเข้าถึงยาของประชาชนด้วย ยาเป็นเรื่องสำคัญ

ที่มา ThaiPBS
โพสต์โดย admin
โรงพยาบาลสวนผึ้ง เลขที่ 152 หมู่ 5 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 70180  โทร. 0-3273-1800-2 โทรสาร 0-3273-1818  อีเมล์ sph.hospitals@gmail.com   พัฒนาโดย ศูนย์คอมพิวเตอร์