Login    Facebook Sphospital  
หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา บริการจากเรา รับเรื่องร้องเรียน กระดานสนทนา ผลงานดีเด่น

พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแล้วกว่า 16,000 ราย
ภาพประกอบข่าว
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานตัวเลขล่าสุดเป็นทางการ ผู้ป่วยมือเท้าปากในประเทศไทย พบมีผู้ป่วยแล้วกว่า 16,000 ราย คาดว่าต้องใช้เวลาในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอีก 3-4 ปี ส่วนการเสียชีวิตของด็กวัย 2 ขวบ ยืนยันแล้วว่าเป็นการเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปาก ซึ่งเป็นการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 บี 5

 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เปิดเผยหลังประชุมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กหญิงวัย 2 ขวบ 8 เดือน ที่เสียชีวิต ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าจากการตรวจวิเคราะห์ และนำข้อมูลจากหลายหน่วยประกอบกัน พบว่าเด็กหญิงคนดังกล่าวเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากชนิดรุนแรง ซึ่งเป็นอาการที่เข้าได้กับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 บี 5 และถือเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกในปีนี้ของประเทศไทย เพราะมีอาการป่วยเนื่องจากมีไข้สูงเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากนั้นมีความดันโลหิตสูง เนื่องจากเป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว จึงทำให้เสียชีวิต ซึ่งเด็กรายนี้ แพทย์ยังไม่สามารถตรวจสอบที่มาของการติดเชื้อได้ เนื่องจากบริเวณที่อยู่ไม่มีเชื้อดังกล่าว

ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 2 ราย คือ ชายไทย อายุ 16 ปี ในจังหวัดสระแก้ว ที่มีอาการเข้าข่ายโรคมือเท้าปาก จากการตรวจวิเคราะห์แล้ว พบว่าเสียชีวิตเพราะไข้สมองอักเสบ เช่นเดียวกับเด็กหญิงวัย 3 ปี ใน จังหวัดลพบุรี แพทย์สรุปว่าไม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคมือเท้าปาก แต่อยู่ระหว่างตรวจวิเคราะห์ว่าเสียชีวิตเพราะสาเหตุใด

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 22 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วย 16,860 รายจาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 26.54 ต่อประชากรแสนคน กลุ่มอายุที่พบมากสุดเรียงตามลำดับ คือ 1 ปี ร้อยละ 28.19, 2 ปี ร้อยละ 25.15, 3 ปี ร้อยละ 17.47

จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พะเยา เชียงราย ภูเก็ต ระยอง และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ สำหรับภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ 37.59 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ 33.15 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 30.70 ต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13.64 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ

ด้านหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เป็นห่วงชุมชนที่เด็กจะต้องกลับไปอาศัยหลังเลิกเรียนมากกว่าที่อยู่ในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองสร้างความสะอาดในที่อยู่อาศัย และยืนยันว่า กทม.ได้ติดตามสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กหญิงที่เสียชีวิตไปที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เนื่องจากญาติของผู้ตายมีอาชีพขับรถรับส่งเด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ

ส่วนสถานการณ์โรคมือเท้าปากใน กทม.ขณะนี้มีแนวโน้มลดลง ล่าสุด มีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย โดยขออย่าให้ประชาชนวิตกกังวลกับโรคนี้จนเกินไป เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ติดตาม และควบคุมโรคนี้อย่างใกล้ชิด

ด้านนางเดือนถนอม พรหมขัติแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโรคมือเท้าปากแล้ว โดยได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 2-3 ปี กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนากระบวนการผลิต ซึ่งใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาว

โดยคาดว่ากระบวนการผลิตจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2556 จากนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะหาผู้ร่วมวิจัยในคน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการวิจัยอีก 3-4 ปี สำหรับการรักษา แพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วย เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสในการรักษา

สำหรับการติดเชื้อโรคมือเท้าปากนั้น โดยปกติแล้วไม่ทำให้ถึงตาย แต่ถ้าติดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ซึ่งมีความรุนแรงกว่าค็อกซากี และหากมีองค์ประกอบหรือปัจจัยที่เอื้อให้อาการของโรคมีความรุนแรง อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ และหากมีวัคซีนในการป้องกันโรคมือเท้าปาก เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ปกครองมีความวางใจในระบบสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น

ที่มา ThaiPBS
โพสต์โดย admin
โรงพยาบาลสวนผึ้ง เลขที่ 152 หมู่ 5 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 70180  โทร. 0-3273-1800-2 โทรสาร 0-3273-1818  อีเมล์ sph.hospitals@gmail.com   พัฒนาโดย ศูนย์คอมพิวเตอร์